วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาวะโภชนาการกับสมรรถภาพทางกายและสมองของเด็ก


ภาวะโภชนาการกับสมรรถภาพทางกายและสมองของเด็ก

          องค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนก็คือ   การจัดสภาพแวดล้อม  ในด้านจิตวิทยาการเด็ก  ถือว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างยิ่งไม่น้อยกว่าพันธุกรรม  การอบรมเลี้ยงดูก็ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของการจัดสภาพแวดล้อม  โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโภชนาการ  ทั้งนี้  เพราะภาวะโภชนาการในตัวบุคคลเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาทุกด้าน  ฉะนั้น  การดูแลเด็กอย่างดีและถูกต้อง  ในเรื่องนี้ถือเป็นความจำเป็นและความสำคัญอันดับแรกในการพัฒนาเด็กซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้  ด้วยเด็กที่มีสุขภาพทางกายที่สมบูรณ์  และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บย่อมส่งผลให้มีสุขภาพจิตและจิตลักษณะอื่น ๆ ดีตามไปด้วย






 ปัญหาทางโภชนาการของเด็กไทยเรียงความสำคัญอยู่ 7 ชนิด  คือ

1.โรคขาดโปรตีนและกำลังงาน  (calorie protein energy malnutrition) หรือ โรคทุโภชนาการ  (โรคขาดสารอาหาร)

2.โรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2

3.โรคโลหิตจางจากการขาดสารอาหาร  (nutritional anemia)  หรือโรคซีด

4.โรคขาดวิตามินเอ  หรือโรคตาเจ็บจากการขาดวิตามินเอ  (xerophthalmai)

5.โรคเหน็บชา  หรือโรคขาดวิตามินบี 1 (beri - beri)

6.โรคคอพอกจากการขาดไอโอดีน  (simple goiter)

7.โรคนิ่วในกระเพาะเบา  (bladder atone disease)

            ปัญหาโภชนาการทั้ง 7 อย่างนี้  ปัญหาการขาดแคลอรีและโปรตีนเป็นปัญหาที่มีมากที่สุดและสำคัญที่สุด  หากเราสามารถขจัดหรือผ่อนคลายปัญหานี้ได้แล้วก็ย่มจะทำให้เกิดปัญหาโภชนาการอื่นลดลงไปด้วย 
(ขอขอบพระคุณอาจารย์  น.พ.อารีย์  วัลยะเสวี,2521)






อิทธิพลที่มีผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียนและองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก ก็คือ  ภาวะเศรษฐกิจ  ความบกพร่องของฐานะ  ขนาดของครอบครัว  การศึกษาของพ่อแม่  การทำงานนอกบ้านของพ่อแม่  ประเพณีความเชื่อ น้ำหนักแรกเกิด  ลำดับที่เกิด  โรคภัยไข้เจ็บ  และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  และนิสัยการบริโภคของพ่อแม่  จะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของอาหารที่เด็กบริโภคและภาวะโภชนาการของเด็ก  เด็กก่อนวัยเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกัน  จะมีนิสัยในการบริโภคแตกต่างกันและบริโภคอาหารต่างชนิดกันอย่างเด่นชัด


สาเหตุรากฐานสำคัญที่ทำให้เด็กสอบตกนั้น  ส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพไม่ดีอันเนื่องมาจากภาวะโภชนาการ  และการได้รับอาหารไม่เพียงพอและไม่ถูกต้องทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน  สิ่งที่ควรทำคือ  จัดโครงการอาหารที่ได้มาตรฐานขึ้นในโรงเรียน  โดยให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง  โดยกำหนดเป็นนโยบายแน่ชัดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล  มีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งรับผิดชอบเป็นเจ้าของเรื่องร่วมมือกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่น  ทั้งในและนอกประเทศ  ทำงานในระดับชาติ  ระดับท้องถิ่น  ระดับกลุ่มบุคคล  และระดับบุคคล  (ขอขอบพระคุณ  อาจารย์ทวีรัสมิ์  ธนาคม,ล.ด.)








              สรุปได้ว่าสภาพภาวะโภชนาการในเด็กไทยของเราทุกระดับอายุ  โดยเฉพาะในวัยทารกและก่อนวัยเรียน  เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  เพราะภาวะโภชนาการมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาในด้านร่างกาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อและสมองของเด็ก  และสะท้อนให้เห็นสภาพพัฒนาการของเด็กไทยโดยส่วนรวมได้อย่างชัดเจนว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล  ทั้งสภาพพัฒนาการของเด็กไทยนี้ยังขึ้นอยู่กับอิทธิพลของผลรวมของปัจจัยต่าง ๆ มากมายหลายอย่าง  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร  ความรู้ในเรื่องโภชนาการและบริโภคนิสัย  เจตคติและพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่จะสนับสนุนให้เด็กเกิดการเจริญเติบโตในทุก ๆ ด้าน  และความสามารถของครอบครัวในการจัดสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กของตน  ให้มีลักษณะปลอดภัย สร้างสรรค์  และมั่นคงเกิดขึ้นเสียก่อน  สถาบันครอบครัวจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

***ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก  คณะอาจารย์ทั้งนายแพทย์และพยาบาล  และอาจารย์นักพัฒนาการเด็ก  มสธ.ที่เคารพยิ่งทุกท่าน








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น